วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

ถ่ายกรุงเทพฯให้เทพเหมือนช่างภาพ



          กรุงเทพมหานครของเรานั้นเป็นเมืองหลวงที่มีแสงสีมากเมืองหนึ่งของโลก ด้วยแสงสีของกรุงเทพฯนั้นเองทำให้คนไทยที่ชื่นชอบในการถ่ายภาพหันมาสนใจในการถ่ายภาพเมืองหรือที่เรียกว่าภาพแนว Cityscape และยังมีชาวต่างชาติที่มีความสนใจในการถ่ายภาพเข้ามาถ่ายภาพกรุงเทพฯของเราด้วยเช่นกัน ทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ๆที่เราทุกคนอาจจะยังไม่เคยเห็นเมืองของเราผ่านมุมมองของช่างภาพแต่ละคน ซึ่งการถ่ายภาพ Cityscape ไม่ใช่เรื่องยากเลยแค่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการออกไปถ่ายบ่อยๆแล้วจะพัฒนาฝีมือขึ้นมาเอง วันนี้ทางเราจะมานำเสนอเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ของกรุงเทพฯให้สวยเหมือนช่างภาพมืออาชีพกันเลยทีเดียว มาเริ่มกันเลยครับ



          1. "Cityscape คืออะไร" Cityscape คือการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ของเมือง แยกย่อยออกมาจากแนว Landscape ที่แปลว่าการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ การถ่ายภาพเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ช่างภาพชาวไทยที่อยู่ในกรุงเทพนิยมออกมาถ่ายรูปกัน เนื่องจากกรุงเทพของเราเป็นเมืองที่สวยงาม และมีแลนด์มาร์กที่สวยงามมากมาย ดังนั้นก่อนจะออกไปถ่ายเรามาเรียนรู้วิธีในการถ่ายกันก่อนดีกว่าครับ


          2."รู้จักอุปกรณ์" การถ่ายภาพCityscape หรือภาพเมืองนั้น ต้องมีอุปกรณ์การถ่ายภาพที่เยอะกว่าแนวอื่นสักหน่อย ซึ่งมีทั้งกล้อง ขาตั้งกล้อง เลนส์ที่ใช้ในการถ่ายภาพประเภทนี้ และสายลั่นชัตเตอร์ เรามาทำความรู้จักอุปกรณ์ชนิดต่างๆกันดีกว่าครับ

                2.1 กล้องถ่ายภาพ การถ่ายภาพทุกชนิดแน่นอนว่าเราต้องมีกล้องถ่ายภาพแน่นอนครับ ซึ่งกล้องถ่ายภาพสามารถแบ่งออกมาได้เป็นสามประเภทหลักๆ คือ

                     กล้องคอมแพค เป็นกล้องขนาดเล็ก เปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ พกพาง่าย สะดวกต่อการใช้งาน เพราะในตัวกล้องสามารถซูมเข้าซุมออกได้อย่างอิสระเพราะมีระยะเลนส์ที่ค่อยข้างครอบคลุมการใช้งาน แต่คุณภาพของรูปภาพต่ำเนื่องจากใช้เซ็นเซอร์ที่เล็ก และมีข้อจำกัดในการใช้งานมาก

(ที่มา : https://www.ephotozine.com/article/10-best-compact-cameras-under--pound-100-2016-29034)

                    กล้องMirrorless เป็นกล้องที่ไม่มีกระจกสะท้อน ทำงานโดยรับภาพเข้าสู่เซ็นเซอร์โดยตรง มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และบางรุ่นบางยี่ห้อได้ทำออกมาสวยงามทำให้ในปัจจุบันเป็นกล้องที่ติดตลาดมากๆ ด้านคุณภาพของไฟล์กล้องบางรุ่นก็ไม่ได้แย่ไปกว่ากล้องDSLR อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำในบางรุ่นในราคาที่เท่ากัน ซึ่งในปัจจุบันคนหันมานิยมกล้องชนิดนี้กันมากขึ้นกว่าเดิมมาก



                     กล้องDSLR คือกล้องที่ช่างภาพหรือคนที่ทำงานด้านถ่ายภาพเลือกใช้ เพราะเป็นกล้องที่จับถนัดมือ มีเลนส์ให้เลือกเยอะ คุณภาพของไฟล์ภาพที่ได้ดีมากๆ หรือการถ่ายวิดีโอไม่ได้แย่อะไรเลย และมีกระจกสะท้อนภาพ เป็นกล้องที่หากอยากจะมาจริงจังกับการถ่ายภาพก็ควรใช้กล้องประเภทนี้หากรับน้ำหนักที่หนักกว่ากล้องMirrorlessเกือบเท่าตัวได้ ซึ่งการถ่ายภาพแนวLandscape หรือ Cityscape จำเป็นที่จะต้องใช้กล้องที่ให้คุณภาพไฟล์ที่ดี ดังนั้นกล้องMirrorlessและกล้องDSLRก็เป็นกล้องที่ควรนำมาใช้งานกับการถ่ายภาพแนวนี้
(ที่มา : http://www.nikon.co.in/en_IN/product/digital-slr-cameras/d810)
 

               2. เลนส์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ Cityscape เนื่องจากการถ่ายภาพแนวนี้เราต้องถ่ายในเมืองซึ่งเราอาจจะเจอกับจุดถ่ายที่อาจจะแคบไปสักหน่อยในการถ่ายตึกต่างๆ ดังนั้นการเลือกเลนส์มาใช้งานก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้เราได้ภาพสวยๆกลับบ้านไปอวดคนอื่นๆ

                     เลนส์มาตรฐาน (Normal Lens) เป็นเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสปกติ พอดีกับสายตามนุษย์ ดังนั้นเลนส์ประเภทนี้จะให้ภาพที่สมจริงเนื่องจากแทบไม่มีการบิดเบี้้ยวของภาพที่เกิดจากผลของเลนส์เลย จะมาพร้อมระยะ 50mm ซึ่งเหมาะกับการถ่ายภาพทั่วไป
(ที่มา : http://aa-cambodia.com/product/af-s-nikkor-50mm-f1-4g/)

                      เลนส์เทเลโฟโต้ (Telephoto Lens) เลนส์ชนิดนี้มีมุมรับภาพที่ค่อนข้างแคบ เหมาะสำหรับการเก็บภาพระยะไกล ซึ่งจะทำให้ดึงวัตถุที่อยู่ไกลๆให้ใหญ่ขึ้นมาได้ จะมีระยะตั้งแต่70mmขึ้นไป ในการถ่ายภาพCityscape ในบางครั้งเลนส์ระยะนี้ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อเราต้องการดึงตึกที่อยู่ไกลจากเราให้พอดีกับการจัดองค์ประกอบภาพที่เราคิดไว้
(ที่มา : https://photographylife.com/reviews/nikon-80-400mm-vr/)

                    เลนส์มุมกว้าง (Wide angle Lens) เป็นเลนส์ที่สำคัญมากสำหรับคนที่ชอบถ่ายภาพวิวทิวทัศน์รวมถึงการถ่ายภาพCityscapeด้วย เพราะเลนส์ชนิดนี้จะมีองศารับภาพที่กว้างมากๆทำให้สามารถเก็บรายละเอียดของภาพได้ครบ จะมีระยะประมาณ10mm-35mm ถ้าหากชื่นชอบในการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ก็ควรมีเลนส์มุมกว้างติดไว้สักตัวนะครับ จะได้สามารถเก็บภาพมาได้อย่างที่ใจคิด
(ที่มา : http://garycameradigital.com/lenses/nikon-af-s-nikkor-14-24mm-f2-8g-ed-lens.html)

                    เลนส์ฟิชอาย (Fisheye Lens) หรือเลนส์ตาปลา เลนส์ชนิดนี้มีองศารับภาพที่กว้างกว่าเลนส์มุมกว้าง อาจจะถึง180องศาเลยทีเดียว สังเหตุง่ายๆเลนส์ประเภทนี้จะมีหน้าเลนส์ที่กลมนูนยื่นออกมา ภาพที่เกิดจากเลนส์นี้จะมีลักษณะที่บิดเบี้ยวตรงขอบภาพ ทำให้เกิดความแปลกตา หากใช้เลนส์ประเภทนี้ถ่ายตึกก็จะเกิดความตัดกันของตึกที่ดูแข็งแรงกับผลของเลนส์ที่ทำให้ตึกเบี้ยว แต่ทั้งนี้ต้องรู้จักและใช้งานให้เป็นก่อนภาพจึงจะออกมาได้อย่างสวยงาม
(ที่มา : http://www.kenrockwell.com/nikon/1628.htm)


               3. ขาตั้งกล้อง มีหน้าที่ทำให้เราถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยได้ดีขึ้น และทำให้ภาพคมชัด ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท

                    Monopod คือขาตั้งกล้องที่มีขาเดียว ใช้สำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการหยุดความเคลื่อนไหว เช่น ถ่ายสัตว์ ถ่ายภาพกีฬา แต่ไม่เหมาะกับการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์อย่างยิ่ง
(ที่มา : https://www.bhphotovideo.com/c/product/239048-REG/Manfrotto_558B_558B_Video_Monopod_with.html)

                    Tripod เป็นขาตั้งกล้องที่มีสามขาเหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่ต้องใช้ความนิ่งของขาตั้งเพื่อถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย ขาตั้งประเภทนี้จะมีวัสดุในการทำต่างกันราคาก็ต่างกัน ยิ่งเบาและแข็งแรงมากเท่าไหร่ราคาจะแพงขึ้นตามมีตั้งแต่หลักพันต้นๆจนถึงหลักหมื่นปลายๆเลยทีเดียว ซึ่งในการเลือกซื้อขาตั้งกล้องไม่ควรซื้อขาตั้งกล้องที่มีราคาถูกมากๆไม่ถึงหนึ่งพันบาท เพราะไม่มีความแข็งแรงจะทำให้กล้องเราตกและเสียหายได้ ควรเลือกซื้อขาตั้งในราคาที่แพงขึ้นนิดหน่อยให้พอกับงบประมาณของเรา จะทำให้ได้ภาพที่ดี และกล้องไม่เสียหายด้วยครับ
(ที่มา : https://www.bhphotovideo.com/c/product/1034913-REG/gitzo_gt2542_gt2532_mountaineer_series_2.html)

               4. สายลั่นชัตเตอร์ เป็นอุปกาณ์ที่ใช้ถ่ายภาพในสถานการณ์ที่เราต้องเปิดหน้ากล้องนานๆเนื่องจากสภาพแสงน้อย เพื่อที่จะไม่ไปโดนตัวกล้องในขณะที่กดชัตเตอร์ ภาพที่ออกมาจะได้มีความคมชัดไม่สั่นไหว สายลั่นชัตเตอร์สมัยใหม่ทีโหมดตั้งเวลาในการถ่าย ด้วยราคาที่ไม่แพงมากจึงตวรมีติดตัวไว้หากคุณเป็นคนที่ชื่นชอบในการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์
(ที่มา : http://www.kenrockwell.com/nikon/d90/accessories.htm)



          
          3."รู้เฟื่องเรื่องเบสิค" ก่อนที่เราจะถ่ายภาพอะไรหรือแนวไหนก็ตาม เรื่องพื้นฐานของการถ่ายภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพแล้วก็ตามเรื่องเบสิคก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในการถ่ายภาพตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานในเรื่องการตั้งค่าถ่ายภาพซึ่งต้องเข้าไปยุ่งกับค่า Speed Shutter, ค่ารูรับแสง และค่า ISO หลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องนี้มันยากเลยไม่เริ่มถ่ายภาพอย่างจริงจังกัน จริงๆแล้วมันไม่ใช่เรื่องยากเลย ลองมาเรียนรู้ไปพร้อมกันดูครับ

               ความไวชัตเตอร์ (Speed Shutter) เป็นปัจจัยหลักในการควบคุมปริมาณแสงที่เข้าสู่เซ็นเซอร์ มีลักษณะเป็นประตูเปิดปิดเรียกว่าม่านชัตเตอร์ จะเปิดหรือปิดตามความเร็วที่ผู้ถ่ายกำหนด ยิ่งเปิดปิดเร็วมากแสงจะเข้าได้น้อยแต่จะสามารถหยุดจับการเคลื่อนไหวในภาพได้  แต่หากเปิดปืดช้ามากแสงก็จะเข้าได้เยอะและวัตถุที่เคลื่อนไหวในภาพก็จะเบลอ หรือมีลักษณะเป็นเส้น ใช้หน่วยเป็นวินาทีและนาที ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการถ่ายนักกีฬาฟุตบอลก็ควรเปิดสปีดชัตเตอร์ให้เปิดปิดเร็วเพื่อจะจับการเคลื่อนไหวของนักกีฬา แต่ถ้าหากต้องการถ่ายภาพไฟรถวิ่งเป็นเส้นๆ ก็ควรเปิดสปีดชัตเตอร์ให้เปิดปิดนานเพื่อที่จะได้แสงไฟจากรถที่วิ่งไปให้เป็นเส้น

               รูรับแสง (Aperture) หรือที่เรียกกันว่า "ค่า F" เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีหน้าที่ควบคุมปริมาณแสง ซึ่งจะถูกติดตั้งไว้ที่ตัวเลนส์ จะสามารถย่อให้เล็กหรือใหญ่ได้ตามที่ผู้ถ่ายต้องการ เมื่อยิ่งเปิดรูรับแสงให้ใหญ่ขึ้นแสงก็จะสามารถเข้าได้เยอะ แต่หากเปิดรูรับแสงให้เล็กลงแสงก็จะเดินทางเข้ามาได้น้อย หน้าที่ของรูรับแสงนั้นมีไว้เพื่อกำหนดระยะชัดในภาพ ยิ่งค่ารูรับแสงน้อยหรือเปิดรูรับแสงกว้าง (เลขน้อย) จะได้ระยะชัดที่น้อย เหมาะกับการถ่ายภาพในลักษณะหน้าชัดหลังเบลอหรือหน้าเบลอหลังชัด เช่น การถ่ายภาพบุลคล แต่ยิ่งค่ารูรับแสงเยอะหรือเปิดรูรับแสงให้แคบลง (เลขมาก) จะได้ระยะชัดที่มากขึ้นจนถึงชัดทั้งภาพ เหมาะแก่การถ่ายภาพวิวทิวทัศน์หรือถ่ายภาพเมือง

               ค่าความไวแสง (ISO) ย่อมาจาก “International Organisation for Standardisation”  หมายถึงส่วนประกอบที่กำหนดมาตรฐานสากล ในการถ่ายภาพดิจิตอล มีหน้าที่กำหนดความไวแสงต่อเซ็นเซอร์ การที่เราเพิ่มค่าISOขึ้นมาเพื่อที่จะเพิ่มระดับความไวแสงของเซ็นเซอร์ เช่น ในสถานการณ์ที่ต้องการแสงน้อยก็สามารถเพิ่มค่าISOขึ้นมาในกรณีที่ไม่มีแฟลช แต่ทั้งนี้การเพิ่มค่าISOขึ้นมามากๆจะมีจุดรบกวนในภาพหรือที่เรียกว่า Noise ซึ่งเกิดจากการที่กล้องขยายสัญญาณไฟฟ้าเพื่อจะให้ภาพสว่างขึ้นนั่นเอง ดังนั้นหากต้องการภาพที่ใสๆไม่มี Noiseในภาพ ก็ควรที่จะรู้ขีดจำกัดของกล้องตัวเองว่าสามารถเปิดISOได้มากแค่ไหนที่จะไม่มีNoiseในภาพ ยิ่งกล้องใหม่เท่าไหร่ก็จะทำระบบจัดการNoiseได้ดีกว่ากล้องรุ่นเก่าๆนั่นเอง

          ค่าทั้งสามอย่างนี้เป็นค่าที่มีความสัมพันธ์กัน ต้องเปิดแต่ละอย่างให้สัมพันธ์กัน เมื่อได้เรียนรู้ค่าทั้งสามอย่างนี้ซึ่งเป็นพื้นฐานของการถ่ายภาพไปแล้ว ก็ควรที่จะนำไปหัดใช้หัดปรับให้เป็น ต้องอาศัยการถ่ายบ่อยๆเพื่อเพิ่มประสบการณ์ จะได้สามารถคำนวณแสงได้อย่างรวดเร็วและได้ภาพตามที่ใจคิดได้


          
          4. "องค์ประกอบดีมีชัยไปกว่าครึ่ง" การถ่ายภาพนั้น ไม่ว่าจะถ่ายแนวไหนก็ตามล้วนสวยได้ด้วยการจัดองค์ประกอบของสิ่งที่อยู่ในภาพ หากวางสิ่งที่เราต้องการจะถ่ายไว้ในตำแหน่งที่พอดี สิ่งๆนั้นก็จะเด่นและเกิดความน่าสนใจขึ้นมา ซึ่งในการถ่ายภาพ Cityscape ก็ต้องการการจัดองค์ประกอบที่ดีเพื่อให้ภาพน่าสนใจเช่นกัน ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าเราต้องจัดองค์ประกอบภาพแบบไหนภาพของเราจึงจะดูน่าสนใจ

               กฎสามส่วน (Rule of third) เป็นการวางองค์ประกอบภาพโดยแบ่งภาพเป็นสามส่วนเท่าๆกัน ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ขอยกตัวอย่างมาอธิบายเพื่อให้ได้เห็นภาพ หากเราต้องการถ่ายภาพทะเลและท้องฟ้าให้อยู่รวมกันภาพในภาพเดียว ถ้าเราถ่ายภาพนั้นโดยทำให้ทะเลและท้องฟ้าเท่ากันคือแบ่งกันคนละครึ่ง ลองนึกภาพตามว่าคงจะดูไม่น่าสนใจเลย แต่หากแบ่งภาพออกเป็นสามส่วนแล้วนำทะเลมาไว้ในส่วนแรก และให้ท้องฟ้าอยู่ในสองส่วนด้านบน ภาพก็จะน่าสนใจขึ้นมาทันที เพราะทำให้ไม่ดูน่าเบื่อนั่นเอง


               จุดตัดเก้าช่อง (Point of gold) จะใช้หลักการเดียวกันกับกฎสามส่วนแต่ส่วนที่เพิ่มเติมคือจะแบ่งเป็นสามส่วนทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ให้มีช่องทั้งหมดเก้าช่อง ซึ่งเมื่อเราลากเส้นแนวตั้งทับกับเส้นแนวนอนจะเกิดจุดตัดของเส้นเหล่านั้น นั่นคือจุดตัดของทั้งเก้าช่องนั่นเองจะมีด้วยกันอยู่สี่จุด จุดทั้งสี่จุดนี้จะทำให้ภาพของเรายิ่งน่าดูเข้าไปอีกเมื่อใช้ร่วมกันกับกฎสามส่วน วิธีการคือนำจุดเด่นที่เราต้องต้องการถ่ายในภาพเข้าไปอยู่ตรงจุดตัดของเก้าช่องพอดี ช่องไหนก็ได้ตามที่เราต้องการหรือสมควร แค่เพียงเท่านี้ภาพของเราก็จะดึงดูดสายตาขึ้นมาทันตาเห็นเลยครับ


               วางไว้ตรงกลาง (Center) บ่อยครั้งในการถ่ายภาพ Cityscape ที่ในบางครั้งการวางองค์ประกอบในจุดตัดเก้าช่องก็ไม่ได้ทำให้ภาพของเราโดนเด่นขึ้นมาเท่าที่ควร ดังนั้นการจัดองค์ประกอบภาพให้จุดเด่นของเราอยู่ตรงกลางก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เราปรับใช้ได้เช่นกัน ทั้งนี้หากนำไปประยุกต์ใช้กับกฎสามส่วน ภาพของเราก็จะดึงดูดสายตาคนดูได้ดีขึ้นกว่าเดิม





          5. "การวางแผนในการถ่าย Bangkok Cityscape" การถ่ายภาพวิวทิวทัศน์นั้นจำเป็นต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เพราะการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์นั้นเราไม่ได้ถ่ายในห้องหรือสตูดิโอ ดังนั้นเราจะเจอกับเรื่องที่ควบคุมไม่ได้เสมอ หากขาดการวางแผนที่ดีก็อาจจะถึงขั้นถ่ายภาพไม่ได้เลย

               ก่อนจะเดินทางไปถ่ายภาพนั้นเราต้องเช็กสภาพอากาศการจราจรและพระอาทิตย์ว่าขึ้นและตกเวลาใด หากต้องการไปถ่ายภาพในตอนเช้าให้ออกไปถึงสถานที่ถ่ายประมาณหนึ่งชั่วโมงก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แต่หากเราต้องการไปถ่ายในตอนเย็นให้ไปถึงก่อนพระอาทิตลับขอบฟ้าประมาณหนึ่งชั่วโมงเช่นกัน เพื่อสำรวจมุมบริเวณนั้นและเลือกจุดถ่าย

               การเลือกสถานที่ที่เราจะไปถ่ายเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญ แต่จริงๆแล้วมันค่อนข้างส่งผลพอสมควร ที่ผมจะบอกคือหากเราถ่ายสถานที่ๆคนรู้จักหรือสวยงาม ภาพของเราก็จะสวยงามกว่าการที่เราไปถ่ายไฟรถวิ่งบนสะพานลอยหรือถ่ายตึกแถวห้าชั้นละแวกบ้าน ซึ่งแน่นอนว่าการไปถ่ายสถานที่ดังๆช่างภาพคนอื่นๆก็ถ่ายกันมาเยอะมากแล้ว สิ่งที่เราควระทำคือการวางแผนหามุมใหม่ๆให้ไม่เหมือนคนอื่น ทำได้โดยการเล่นมุมมองหรือการแต่งเติมสีสันเข้าไปนิดหน่อยในขั้นตอน Post processing ก็จะทำให้ภาพของเราไม่ซ้ำใครแล้วครับ

(ภาพไฟรถวิ่งถ่ายจากบนสะพานลอย)

(ภาพไฟรถวิ่งพร้อมฉากหลังเป็นวัดพระแก้ว)

               Cityscape คือการถ่ายภาพวิวเมือง ฉะนั้นการออกไปกางขาตั้งกล้องสุ่มสี่สุ่มห้าไปในที่ที่เขามีข้อห้ามแต่เราไม่ทราบ อาจจะทำให้โดนไล่หรือโดนปรับเงินกันเลยทีเดียว ทางที่ดีควรตรวจเช็กหรือหาข้อมูลของสถานที่ที่เราจะไปปักหลักถ่ายรูปให้เรียบร้อย ว่าจุดตรงนั้นมีข้อห้ามอะไรบ้าง ส่วนใหญ่จะมีปัญหากับการถ่ายบนตึกสูงที่เป็นจุดชมวิว หลายๆที่ห้ามกางขาตั้งกล้อง เพราะกลัวจะรบกวนแขกที่มาชมวิว ดังนั้นควรตรวจเช็กให้เรียบร้อยก่อนที่จะออกไปลุยนะครับเพื่อให้ได้ภาพที่สมใจอยาก และต้องไม่ละเมิดกฎที่ทางสถานที่ตั้งไว้ด้วย

               อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องวางแผนโดยละเอียดคือเรื่องของสภาพอากาศ หลายๆคนน่าจะเคยเห็นที่นักท่องเที่ยวไปถ่ายรูปสถานที่สถานที่หนึ่งมา แต่กลับไม่เหมือนกับรูปที่หาบนอินเตอร์เน็ต แน่นอนครับว่ามันไม่มีทางเหมือนกัน เพราะคนที่เป็นช่างภาพเขาอาศัยการพยากรณ์อากาศในการเช็กสภาพอากาศก่อนออกไปถ่ายรูปบวกกับการตกแต่งภาพนิดหน่อย ทำให้ภาพนั้นแสงสีงดงามราวกับภาพวาด ซึ่งในปัจจุบันเราก็สามารถดูพยากรณ์อากาศได้ในโทรศัพท์มือถือของเราแล้ว แอพต่างๆมีให้เลือกมากมาย หากใครคิดจะเริ่มอยากออกไปถ่ายรูปกรุงเทพของเราให้อลังการแล้วล่ะก็ เช็กสภาพอากาศกันก่อนออกด้วยนะครับ วันไหนฝนตกตอนเช้าหรือบ่ายๆวันนั้นคุณออกไปเลยครับ คุณจะได้ฟ้าที่สาดแสงสีระเบิดระเบ๊อกลับมาอย่างแน่นอน แต่ถ้าวันใดที่คุณตื่นมาแล้วเมฆครึ้มแถมยังไม่มีลมอีก นอนต่อไปเลยครับเก็บแรงไว้ไปทำงานดีกว่า ฮ่าๆ



          6. "ช่วงเวลาในการถ่ายภาพ Cityscape" การเลือกช่วงเวลาในการถ่าย Cityscapeก็สำคัญมากๆเช่นกัน เพราะในแต่ละช่วงเวลาจะได้แสงและสีท่ี่ไม่เหมือนกัน คุณภาพของแสงก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นหากเราเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม ภาพของเราก็จะดูน่าสนใจขึ้นมาทันที

               เช้า - คุณภาพแสงตอนเช้าจะค่อนข้างดีมากๆหากฟ้าเปิด โดยเฉพาะในช่วงที่พระอาทิตย์กำลังจะขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ช่างภาพนิยมออกไปถ่ายกันในทิศทางที่วัตถุที่ต้องการถ่ายหันหลังให้ดวงอาทิตย์

(ภาพแสงในตอนเช้า)

               กลางวัน - คุณภาพแสงในตอนกลางวันจะไม่ดีเท่ากับในตอนเช้าและตอนเย็น เพราะแสงจะค่อนข้างแข็งและไร้สีสัน แต่หากเล่นแสงและเงาเป็น การถ่ายภาพตอนกลางวันก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีในการออกไปถ่ายภาพ Cityscape

(แสงในตอนกลางวันจะไม่มีสีสันเหมือนกับแสงในตอนเช้าและตอนเย็น)

               เย็น - ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพในตอนเย็นคือช่วงโพล้เพล้ หรือภาษอังกฤษเรียกว่า Twilight เป็นช่วงเวลาทองของช่างภาพ เพราะสถานที่ในกรุงเทพส่วนใหญ่จะต้องถ่ายในเวลาตอนเย็นเท่านั้น อีกเหตุผลหนึ่งคงเพราะไม่อยากตื่นเช้ากัน ฮ่าๆ คุณภาพของแสงในตอนเย็นก็ดีมากเช่นกันหากฟ้าเปิด และจะมีช่วงเวลาถ่ายภาพนานกว่าในตอนเช้า ทำให้ช่างภาพนิยมออกมาถ่ายภาพกันในตอนเย็นๆ

(ในตอนเย็นมักจะมีฟ้าสวยๆให้เราลุ้นเสมอ)




          7. "การตั้งค่าในการถ่าย Cityscape" เมื่อเราอยู่ตรงหน้าสิ่งที่เราต้องการถ่าย การตั้งค่าที่ดีเพื่อบันทึกภาพเป็นเรื่องจำเป็นมาก ช่างภาพส่วนใหญ่ที่มีประสบการณ์นิยมเลือกใช้โหมด M ในการถ่ายภาพ เนื่องจากสามารถควบคุมทุกอย่างได้ แต่มือใหม่อาจจะเริ่มต้นจากโหมด A (หรือโหมด AV ในกล้องCanon) โดยใช้ความรู้เรื่องพื้นฐานการถ่ายภาพจากข้อ 3. เข้ามาประยุกต์กัน

               7.1 การถ่ายภาพทิวทัศน์นั้นต้องการระยะชัดลึกที่ลึกทั้งภาพ ดังนั้นตึงต้องใช้ค่า F ที่แคบ (หรือเลขเยอะ ตั้งแต่ f8 ขึ้นไป) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ถ่ายว่าต้องการระยะชัดลึกขนาดไหนให้ปรับไปในค่าที่ต้องการ

               7.2 สปีดชัตเตอร์นั้นขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการการเคลื่อนไหวในภาพแบบไหน ในการถ่ายCityscape นิยมใช้สปีดชัตเตอร์ไว้เล่นกับไฟของรถ หากเราเปิดสปิดชัตเตอร์นาน รถที่เปิดไฟแล่นบนถนนก็จะกลายเป็นเส้นไฟแทน ทั้งนี้ขึ้นการปรับสปีดชัตเตอร์อยู่กับสภาพแสง ณ เวลาที่บันทึกภาพ

               7.3 ค่า iso แนะนำให้ตั้งไว้ที่ Base isoของกล้อง (100-400) ไม่จำเป็นต้องดัน iso ขึ้นไปเยอะเนื่องจากเราเปิดสปีดชัตเตอร์นานทำให้แสงเข้ามาเยอะล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ค่า isoที่เยอะเกินไป



           8. "การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า" ทุกครั้งเมื่อเราออกไปถ่ายภาพไม่ว่าจะแนวไหนก็ตาม มักจะไม่ได้ภาพอย่างที่คิดไว้100% ถึงแม้จะมีการวางแผนที่ดีก็ตาม เนื่องจากมีตัวแปรมากมายที่ทำให้ภาพของเราไม่สมใจหวัง ทำให้เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป

ปัญหาที่พบเจอบ่อยในการถ่ายภาพ Cityscape

               สภาพอากาศ เชื่อว่าเจ้าสิ่งนี้น่าจะเป็นตัวแปรอันดับต้นๆที่เราจะต้องประสบเลย เพราะถึงแม้เราจะเช็กฟ้าเช็กฝนไปอย่างดี ขึ้นชื่อว่าท้องฟ้ามันอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ฉะนั้นควรเตรียมรับมือและวิธีแก้ปัญหาเพื่อให้ได้ภาพติดไม้ติดมือกลับบ้าน

               ปัญหาสถานที่ไม่สามารถกางขาตั้งกล้องได้ จริงๆปัญหานี้จะหมดไปหากเราหาข้อมูลมาก่อน แต่เชื่อว่าหลายคนก็เคยพลาดพลั้งกันมามากมาย ไปตามร้านอาหารบนตึกสูงแต่ไม่สามารถตั้งขาตั้งกล้องได้ การแก้ปัญหาวิธีนี้คืออาจจะนำกล้องตั้งกับโต๊ะหรือขอบราวกั้นแล้วถ่าย หรือจะหาตัวยึดกับราวหรือหาขาตั้งกล้องเล็กๆมาใช้ก็ทำได้เช่นกัน

               ลืมอุปกรณ์ไว้ที่บ้าน ปัญหานี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ของจริงถ้าหากของที่ลืมคือ เมมโมรี่การ์ด แบตเตอรี่กล้อง ขาตั้งกล้อง หรือลืมตัวกล้องเลย แต่สิ่งที่ช่างภาพสาย Cityscape ลืมกันบ่อยครั้งคือ สายลั่นชัตเตอร์ การแก้ปัญหาก็ง่ายนิดเดียว แค่เพียงตั้งเวลาถ่ายในกล้องก็สามารถทดแทนกันได้แล้วครับ

               จริงๆแล้วยังมีปัญหาอีกมากมายหลายอย่างให้แก้กัน เพราะระหว่างเราถ่ายรูปสามารถมีปัญหาเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ก็ต้องคอยแก้ปัญหากันไปเพื่อรูปถ่ายที่งดงามของเรา




          9. "การถ่ายภาพเพื่อเตรียมไฟล์ไปสู่ขั้นตอนการตกแต่งภาพ" หลายๆครั้งเมื่อเราถ่ายภาพออกมา ภาพของเรายังดูขาดๆเกินๆ ทางแก้คือนำภาพของเราไปตกแต่งในคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมเพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ แต่ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการการตกตแ่งรูปภาพ เราต้องบันทึกภาพออกมาให้สามารถนำไปตกแต่งเพิ่มเติมได้ง่าย ฉะนั้นการเก็บภาพจึงสำคัญมากเพื่อให้เราสามารถทำภาพๆนั้นออกมาให้สมบูรณ์ที่สุด โดยมีวิธีที่ไม่ยากจนเกินไปมาแนะนำกัน3วิธีครับ

               9.1 การถ่ายภาพเพื่อเก็บส่วนไฮไลท์หรือส่วนสว่าง วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและค่อนข้างนิยมกัน ซึ่งสามารถถ่ายให้จบภายในภาพเดียวได้และสามารถนำภาพมาตกแต่งต่อได้ทันที ทำได้โยวัดแสงในส่วนของไฮไลท์ในภาพให้ได้แสงที่พอดี จากนั้นกดถ่าย ส่วนสว่างในภาพก็จะไม่สว่างจนแสงล้น แต่ต้องแลกมาด้วยส่วนมืดที่มากมาย ซึ่งสามารถแก้ไขได้ในโปรแกรมแต่งภาพ


               9.2 การเก็บภาพมาให้สว่างที่สุดโดยไม่หลุดไฮไลท์ หรือ ETR (Expose to the right) ซึ่งเทคนิคนี้ค่อนข้างต้องอาศัยความรู้ในการอ่ายค่า Histogram ของกล้องนิดหน่อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยากและหาอ่านได้ทั่วไป เทคนิคนี้จะเป็นการเก็บแสงให้สว่างที่สุดโดยส่วนสว่างต้องไม่หลุดไฮไลท์ หรือค่า Histogram เทไปทางขวานั้นเอง จะทำให้ภาพของเราได้ข้อมูลในภาพมาอย่างครบถ้วนและสามารถนำไปตกแต่งต่อได้อย่างง่ายดาย


               9.3 การถ่ายภาพคร่อม (Bracketing) เป็นการเก็บภาพให้ครบช่วงแสง ทั้งในส่วนของHighlight และ Shadow ซึ่งเทคนิคนี้ต้องอาศัยประสบการณ์นิดหน่อยในการถ่าย ส่วนมากเทคนิคนี้จะนิยมเก็บภาพมาสามช่วงแสง แต่หากต้องการความสมบูรณ์ของภาพอย่างที่สุดก็อาจจะเลือกเก็บมา 5-9ช่วงแสง ขั้นตอนหลังจากได้ภาพมาแล้วคือนำภาพไปรวมทุกช่วงแสงในโปรแกรม Adobe Photoshop เรียกเทคนิคนี้ว่า Blending เป็นเทคนิคที่ไม่ได้ยากจนเกินไปหากเรามีพื้นฐานที่ดีแล้ว

(ถ่ายแสงต่างกันสามช่วงเพื่อเลือกส่วนของHighlight และ Shadow)



          10. "การตกแต่งภาพเบื้องต้น" หากเราต้องการความสมบูรณ์ของภาพ บางครั้งกล้องของเราก็ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาให้สมบูรณ์ที่สุดได้ ดั้งนั้นการตกแต่งรูปภาพจึงเข้ามาช่วยเติมเต็มให้ภาพของเราได้
          โปรแกรมแต่งภาพที่ง่ายสำหรับผู้เริ่มต้นเลยก็คือโปรแกรม Adobe lightroom เพราะเป็นโปรแกรมที่ใช้งานง่ายมากๆ แค่ลองเลื่อนๆดูก็ใช้เป็นแล้ว ฉะนั้นลองไปหาโหลดโปรแกรมมาลองเล่นกันดูก่อน แต่หากติดใจขึ้นมาก็สนับสนุนของแท้กันนะครับ 

(การปรับภาพในแต่ละขั้นตอน)


ผู้ให้สัมภาษณ์1 : นางสาวพันธิตรา ขันธรักษ์
ผู้ให้สัมภาษณ์2 : Sudaecho Chunhasophon          

สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า 4.0 International.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น